หลักการพิมพ์ ซีลค์สกรีน SCREEN


การพิมพ์(ซิลค์)สกรีน (Silkscreen Printing) เป็นการพิมพ์พื้นฉลุที่ใช้หลักการพิมพ์โดยให้หมึกซึมทะลุผ่านผ้าที่ขึงตึงไว้ และให้ทะลุผ่านเฉพาะบริเวณที่เป็นภาพสามารถพิมพ์งานสอดสีได้ความละเอียดของภาพพิมพ์ขึ้นอยู่กับความถี่ของเส้นใยผ้า สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุได้หลากหลากชนิด กระดาษ,ผ้า,ไม้,พลาสติกและพิมพ์บนวัสดุที่มีผิวโค้งได้ ตัวอย่างงานพิมพ์ประเภทนี้คือ นามบัตร,บรรจุภัณฑ์ต่างๆ,ป้ายกระดาษโลหะ,ป้ายโฆษณา,เสื้อ,ผืนผ้า,ถุงพลาสติก,ขวด,จานชาม,ชิ้นส่วอุปกรณ์ต่างๆ,พลาสติกพีพี(PP),พีวีซี(PVC),ริจิด-แวคครัม(VACCUM),กล่อง,บรรจุภัณฑ์ Packaging Premium Plastic,Bag,GIFT 

เทคนิคการแยกสีเพื่อการพิมพ์สกรีน งานแยกสีและผลิตแม่พิมพ์เป็นขั้นตอนเริ่มแรกของงานพิมพ์ ซึ่งประกอบด้วยงานก่อนพิมพ์ งานพิมพ์ และงานหลังพิมพ์ งานก่อนพิมพ์มีประกอบ ดังนี้คือ
1. งานก่อนพิมพ์ การแยกสีทำฟิล์มเพื่อนำไปจัดทำแม่พิมพ์ การทำแม่พิมพ์ ประกอบด้วย-แม่พิมพ์ 
1.1 ฟิล์ม (หรือไขฟิล์มหรือฟิล์มต่างๆที่ขึ้นอยู่กับงานที่จะใช้) 
1.2 บล็อก คือโคลงสี่เหลี่ยมขึงผ้าสกรีนไว้สำหรับเทสีไปที่แม่พิมพ์หรือบล็อกสกรีนนั้นๆแล้วใช้แปรงปาดลงบนวัตถุที่เราจะพิมพ์**โคลงสี่เหลี่ยมปัจจุบันมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า เพื่อปรับให้เข้ากับการใช้งานอาจจะทำด้วยไม้ ,อลูมิเนียม ก็ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงใยผ้าและเนื้อผ้าจะมีความละเอียด ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งานให้เหมาะสมว่านำไปพิมพ์ลงบนอะไร** 
1.3 แปรงปาด คืออุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ ในงานพิมพ์ซิลด์สกรีน แต่ละช่างพิมพ์ต่างมีเทคนิคแตกต่างกันออกไป แปรงปาดมีหลายแบบที่ใช้งาน ยางปาดสีก็มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับการใช้งานด้วย 
1.4 กาวอัด เสมือนแม่พิมพ์ที่ได้จากการนำ ฟิล์มที่เราทำขึ้นมาวางแนบกับบล็อกสกรีนที่ได้ ซึ่งขั้นตอนก็คือนำกาวอัดมาปาดฉาบบางๆไว้ที่บล็อกสกรีน แล้วนำไปอบให้แห้งจากนั้นก็มาอัดแสงโดยที่นำฟิล์มมาวางแนบไว้ด้วยกัน(เรียกว่าขั้นตอนการอัดบล็อกสกรีน) เราจะทำแบบนี้ให้ครบจำนวนสีและลายของงานนั้นๆที่จะพิมพ์สกรีนชิ้นงาน 
1.5 สี ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกที่ชาดไม่ได้ลวดลายที่ออกแบบมานั้นเราต้องแต่งเติมสีสัน งานซิลด์สกรีนจะมีสีไม่เกิน 7 บล็อกรวมขาวและดำ เป็นมาตรฐานงานพิมพ์สกรีนทั่วไป เพราะว่าระบบงานซิลด์สกรีนเป็นสีใครสีมันหรือเรียกว่า (สีตาย)แตกต่างจากงานพิมพ์ระบบออฟเซ็ทอยู่มาก 

งาน1ชิ้น อาจจะมี 5 สีเราต้องใช้ช่างพิมพ์ถึง 5 คนในงานพิมพ์ยังไม่รวมถึง คนเก็บชิ้นงานและคนจัดเรียง ชิ้นงานก่อนพิมพ์ จะเห็นว่าเราจึงมีข้อกำหนดในงานสกรีนให้มันแคบลงเรื่องงานดีไซน์และนำมาใช้งานพิมพ์สกรีน

หลักการพิมพ์ซิลค์สกรีน

การพิมพ์ Silk Screen

หลักการพิมพ์ "ซิลค์สกรีน" มีหลักการง่าย ๆ คือ การปาดหมึกพิมพ์ ผ่านผ้าสกรีน ที่ยึดบนกรอบสื่เหลี่ยม ให้ลงไปติดกับวัสดุที่จะพิมพ์ หากต้องการให้หมึกผ่านผ้าสกรีนออกมาเป็นลวดลายใด ๆ ก็ทำให้รูผ้าเปิดหรือปิด ในส่วนที่ต้องการให้หมึกผ่านออกตามลวดลายนั้น ๆ
การพิมพ์ระบบนี้สามารถใช้พิมพ์ลงบนวัตถุ ได้แทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นวัสดุแบน กลม เหลี่ยม หรือรูปทรงแปลก ๆ ทั้งหลาย การพิมพ์ระบบนี้ใช้การ ปาดหมึกพิมพ์ผ่านผ้าสกรีนลงไปติด บนวัสดุ ปริมาณ ของหมึกพิมพ์จึงผ่านลงไปเกาะยึด บนวัสดุที่พิมพ์ได้มากและทึบกว่าการพิมพ์ระบบอื่น ๆ จึงทำให้ภาพพิมพ์แลดูสดสวยและคงทนผ้าซิลค์สกรีน

ผ้าซิลค์สกรีน คือ ผ้าที่ทอขึ้นเป็นพิเศษ ให้มีขนาดของรูผ้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เล็ก ๆ ขนาดเท่ากันทุกรู รายละเอียดเกี่ยวกับผ้าสกรีน มีดังนี้คือ
1 ชนิดของเส้นใย มี 3 แบบ คือไนลอน โพลีเอสเตอร์ เส้นใยโลหะ
2 ลักษณะของเส้นใย มีอยู่ 2 แบบคือ แบบเส้นเดี่ยว(Mono Filament)และ แบบเส้นควบ หรือหลายเส้น (Multi Filament) 
3 ขนาดของเส้นใย หมายถึง ความหนา ของผ้า มีขนาดดังนี้คือ
S = Small เป็นผ้าชนิดบาง 
M = Medium เป็นผ้าชนิดปานกลาง 
= Thick เป็นผ้าชนิดหนา 
HD = Heavy Duty ผ้าหน้าชนิดที่ต้อง การให้มีความทนทานสูง
4 ขนาดของรูผ้า หรือความห่าง ระหว่าง เส้นใย บอกขนาดเป็นนัมเบอร์ เช่น ผ้าซิลค์เบอร์ 77, 80,90, 100, 120, 150, 200 ตัวเลขนัมเบอร์ นี้มาจาก จำนวนเส้นด้าย/ซ.ม. หรือ นิ้ว ซึ่งส่วน ใหญ่ที่ใช้กัน จะเป็นระบบเมตริค (ซ.ม.) เบอร์ ของผ้าซิลค์ยิ่งสูงขึ้น ขนาดของรูผ้าก็จะเล็กลง ซึ่งผ้าซิลค์มีอยู่หลายสิบเบอร์ให้เลือกตามความเหมาะสมของแบบที่จะพิมพ์ และวัสดุที่ใช้พิมพ์ซึ่งมี การดูดซึมของหมึกที่แตกต่างกัน การเลือกใช้เบอร์ ผ้าสกรีนให้ถูกต้องเหมาะสมกับงานที่จะพิมพ์ คือ 
4.1 การพิมพ์ผ้า ใช้ประมาณ เบอร์ 18 - 70 เป็นผ้า Screen ที่มีขนาดรูของผ้าใหญ่ เพื่อให้หมึกลงได้มาก ส่วนใหญ่ในแบบหรือภาพที่มีเส้นใหญ่มีการดูดซึมของหมึกมาก
4.2 พิมพ์กระดาษ, ไม้, โปสเตอร์ ใช้ผ้าประมาณ เบอร์ 90 - 120 รูของผ้าปานกลาง ใช้ในการพิมพ์ งานระดับธรรมดาจนถึงลายเส้นเล็ก 
4.3 พิมพ์สติกเกอร์ ป้ายฉลาก, ภาชนะพลาสติก ใช้ผ้าเบอร์ 130 - 200 เป็นผ้าที่มีขนาดรูผ้าละเอียดมาก ใช้ในการ พิมพ์งานลายเส้นเล็กและคมมาก ๆ
ผ้าสกรีนที่บอกรายละเอียดว่า T90 NYMO หมายถึง ผ้าเบอร์ 90 แบบหนา (T = Thick) เป็นผ้าชนิดไนลอน (NY = Nylon) ทอแบบเส้นเดี่ยว (MO = Mono) ผ้าสกรีน เบอร์ 150 S POMO จึงหมายถึง ผ้าเบอร์ 150 โพลีเอสเตอร์แบบบาง และทอแบบ เส้นเดี่ยว

วิธีการทำแม่พิมพ์ซิลค์สกรีน 
การทำแม่พิมพ์ สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งจะต้องพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับงาน ต้นฉบับปริมาณ คุณภาพ และงบประมาณ
1 วิธีตัดกระดาษ ใช้กระดาษหรือวัสดุอื่นที่มีลักษณะเป็น แผ่นแบน และ บางเช่นเดียวกับกระดาษ ตัด หรือเจาะรูกระดาษให้เป็นช่อง หรือลวดลาย ตามที่ต้องการ แล้วนำไปติดลงบนผ้าสกรีนด้านที่จะกดลงทับกระดาษพิมพ์ วิธีการติด อาจใช้การปาดสี พิมพ์ติด การติดกาว หรือใช้เทปกาวก็ได้ เท่านี้ก็จะได้แม่พิมพ์ที่พร้อมที่จะใช้พิมพ์ วิธีนี้เหมาะกับงานพิมพ์ที่ไม่ต้องการความละเอียด และต้นฉบับเป็นลายเส้นขนาดใหญ่ เช่น ตัวเลข พิมพ์เบอร์เสื้อกีฬา
2 วิธีใช้สี, แลคเกอร์,กาว ใช้สี, แลคเกอร์ หรือกาวทาบนผ้าสกรีนมีเทคนิคการทำง่าย ๆ คือ ใช้กาวแลคเกอร์ หรือสีทาระบายลงบนผ้าสกรีนที่ขึงไว้บนกรอบแล้ว โดยทาตามแบบหรือลวดลายที่ได้เตรียมไว้ให้บางส่วนทึบบางส่วนทะลุเป็นช่องตามลวดลาย เพื่อให้สีผ่านได้ในขั้นตอนการพิมพ์ วิธีนี้อาจไม่ทากาว หรือสีโดยตรงแต่ใช้วิธีตัดกระดาษให้เป็นลวดลายตามต้องการแล้ววางกระดาษติดบนกรอบสกรีนด้านใน แล้วใช้สีหรือกาวปาดทับลง แล้วจึงเอากระดาษออกแม่พิมพ์จะมีรอยทะลุตรงส่วนที่มีกระดาษวางอยู่ก่อนวิธีนี้ไม่ดีนัก ได้ลวดลายหยาบ ๆเท่านั้น
3 วิธีใช้ฟิล์มเขียว ฟิล์มเขียว มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ของโพลีไวนิล (Polyvinyl Acitate) เคลือบอยู่บนแผ่นพลาสติคใสสามารถลอกให้หลุดออกจากกันได้ วิธีทำคือ ตัดแผ่นฟิล์ม ให้มีขนาดโตกว่าต้นแบบพอสมควรแล้ววางฟิล์มทับลงกับต้นแบบ โดยหงายด้านที่เป็นฟิล์มขึ้น จากนั้นใช้คัตเตอร์ปลายแหลม หรือเข็มหรือคัทเตอร์ ชนิดที่ทำขึ้นมาสำหรับการใช้กับงานนี้โดยเฉพาะ กรีดลงบนฟิล์ม ตามลวดลายของต้นฉบับโดยจะต้องกรีดเพียงเบา ๆ พอให้ฟิล์มที่เคลือบอยู่บนแผ่นพลาสติคขาดเท่านั้น หลังจากกรีดจนเสร็จทุกส่วนแล้ว นำแผ่นฟิล์มไปติดกับกรอบผ้าสกรีนวิธีติดทำได้โดยวางแผ่นฟิล์มลงบนกระจกเรียบ หงายด้านฟิล์มขึ้น แล้ววางกรอบผ้าสกรีน กดทับลงไปให้แน่นจากนั้นใช้สำลีชุบทินเนอร์ให้ชุ่มพอควร ลูบฟิล์มผ่านผ้าสกรีนให้ทั่ว ทินเนอร์จะต้องใช้พอให้ชื้น อย่าให้เปียกโชกเพราะจะทำให้ฟิล์มละลาย แต่ถ้าทินเนอร์น้อยไปฟิล์มก็จะไม่ติดผ้า การสังเกตว่าฟิล์มติดหรือไม่ให้ดูสีฟิล์มจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น แสดงว่า ฟิล์มได้รับทินเนอร์เพียงพอแล้ว ปล่อยไว้ประมาณ 2 - 4 นาที เพื่อให้ฟิล์มแห้งสนิท สังเกตได้จากสีที่จางลงเท่ากับสี ก่อนที่จะเปียกทินเนอร์ จากนั้น ค่อย ๆ ลอกแผ่นพลาสติคที่รองด้านหลังออก หากมี ส่วนใดของฟิล์มหลุดออก ก็ให้กดลงแล้วชุบทินเนอร์ซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย แม่แบบที่ทำด้วยฟิล์มเขียวมีคุณภาพดีพอสมควร แต่ลวดลายที่จะทำแม่พิมพ์วิธีนี้จะได้เพียง หยาบ ๆ เท่านั้น เพราะจะต้องใช้ฝีมือ หรือความสามารถในการกรีดฟิล์มด้วยมือ เช่น ตัวอักษร หรือตัวเลขขนาดใหญ่ สีที่ใช้พิมพ์ จะใช้ได้เฉพาะสีเชื้อน้ำเท่านั้น ถ้าใช้สีเชื้อน้ำมันจะทำให้แผ่นฟิล์มละลาย การล้างแม่แบบล้างโดยใช้ทินเนอร์เช็ด
4 วิธีใช้ฟิล์มน้ำ ฟิล์มน้ำ หรือฟิล์ม Autocut มีลักษณะคล้าย กับฟิล์มเขียว แต่โปร่งใส เนื้อฟิล์ม และแผ่นรองรับ ไม่หดหรือขยายตัวง่าย ๆ ถูกน้ำจะละลาย ดังนั้นจึงติดกับกรอบผ้ากรีน ด้วยการใช้น้ำเป็นตัวทำให้ติด วิธีทำแม่พิมพ์ มีวิธีการเช่นเดียวกับวิธีใช้ฟิล์มเขียว เพียงแต่เปลี่ยน จากทินเนอร์เป็นน้ำเท่านั้น 
วิธีพิมพ์ฟิล์มน้ำ ใช้พิมพ์ได้กับหมึกพิมพ์เชื้อน้ำมัน และหมึกพิมพ์เชื้อพลาสติก เท่านั้น สีพิมพ์ผ้าจะใช้ไม่ได้ ในกรณีที่ต้องการพิมพ์ด้วยหมึกเชื้อน้ำไห้ใช้วิธี ฟิล์มเขียว การล้างเมื่อต้องการเปลี่ยนแบบใหม่ให้ล้างฟิล์มน้ำออกจากผ้าสกรีนโดยใช้น้ำหรือ น้ำอุ่น
เหมาะสำหรับงานที่มีลายเส้นใหญ่ หรืองานที่คัดลอกด้วยมือได้ เหมาะสำหรับกรอบสกรีน ที่มี ขนาดใหญ่ ซึ่งการทำแม่พิมพ์แบบวิธีอื่นไม่สามารถทำงานได้สะดวก ในกรณีลายเส้นเล็ก ต้องใช้วิธีกาวอัด หรือฟิล์มถ่าย
5 การทำแม่พิมพ์ด้วยวิธีฟิล์มม่วง 
ฟิล์มม่วง เป็นฟิล์มที่มีความไวแสง ใช้ทำแม่ พิมพ์ Silk screen ร่วมกับกาวอัด ให้รายละเอียด และพิมพ์ได้คมชัดกว่าการใช้กาวอัดเพียงอย่างเดียว เหมาะสำหรับ

การพิมพ์ หมึกพิมพ์เชื้อน้ำมัน มีวิธีการทำดังนี้คือ 
1 ตัดฟิล์มม่วง ให้มีขนาดใหญ่กว่าแบบที่จะถ่ายพอประมาณ แล้วนำไปวาง บนกระจกเรียบหงายด้านฟิล์มขึ้น (ด้านผิวด้าน) 
2 วางกรอบผ้าสกรีนทับแผ่นฟิล์ม จากนั้นใช้กาวอัดที่ผสมน้ำยาไวแสงแล้ว ปาดผ่านผ้าสกรีนลง ไปรีดทับกับฟิล์ม
3 นำไปทำให้แห้งในที่มืด เมื่อแห้งแล้วให้ ลอกพลาสติคด้านหลังฟิล์มออก 
4 นำกรอบผ้าสกรีน ที่เคลือบกาวอัดติดฟิล์ม และแห้งแล้วนั้น ไปถ่ายแสง เช่นเดียวกับวิธีกาวอัด แต่จะต้องเพิ่มแสงขึ้น ประมาณ 30 - 40 % ของ การถ่ายเฉพาะกาวอัด 
6 การทำแม่พิมพ์ด้วยกาวอัด เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเป็นแม่พิมพ์ที่พิมพ์งานได้คุณภาพดี ทั้งลวดลายหยาบและละเอียด ทำได้ง่าย พิมพ์ได้ทั้งสีเชื้อน้ำและสีเชื้อน้ำมัน 
กาวอัด เป็นสารเคมีที่เมื่อผสมด้วยน้ำยาไวแสง แล้วนำไปปาดบนกรอบสกรีนที่ขึงผ้า นำไปเป่าให้แห้ง เมื่อแห้งแล้ว ส่วนใดที่ถูกแสงจะทำปฏิกิริยากับแสงจับตัวแข็ง และส่วนที่ไม่ถูกแสงจะอ่อนตัว เมื่อนำไปล้างในน้ำจะละลายตัวออก กาวอัดมีใช้กันอยู่ 3 แบบคือ กาวอัดสีฟ้าและกาวอัดสีชมพู และกาวอัดสีม่วง 
การใช้งาน ใช้กาวอัดสีชมพู 5 ส่วน ผสมกับน้ำยาไวแสง 1 ส่วนโดยน้ำหนัก ส่วนกาวอัดสีฟ้าและสีม่วงให้ใช้กาวอัด 10 ส่วน ต่อน้ำยาไวแสง 1 ส่วน ควรผสมแต่พอใช้ ที่เหลือใช้ให้เก็บไว้ในที่มืดและเย็น

การทำแม่พิมพ์วิธีกาวอัด มีวิธีการ ขั้นตอน ดังนี้
1 ผสมกาวอัด กับน้ำยาไวแสงตามxxxส่วนของกาวอัดแต่ละชนิด คนให้เข้ากันอย่างดี วางทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้ฟองอากาศหมดไป
2 เทกาวอัดที่ผสมแล้ว ลงบนกรอบสกรีนพอประมาณ ใช้ยาวปาด หรืออาจใช้ไม้บรรทัดปาดกาวอัดให้เคลือบผ้าสกรีนให้เรียบทั้งสองหน้า
3 นำกรอบสกรีนที่ปาดกาวอัดแล้ว เข้าห้องมืด ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมืดสนิทก็ใช้ได้ เป่าด้วย เครื่องเป่าลมอุ่น ให้แห้ง 
4 เมื่อแบบแห้งสนิทแล้ว นำแบบนั้นไปถ่ายอาจถ่ายด้วยแสงแดด ในเวลาที่แดดจัด จะใช้ 30 วินาที ถึง 1 นาทีเท่านั้น 
5 นำไปล้างน้ำสะอาดประมาณ 3 - 5 นาที ฉีดน้ำเป็นฝอยล้างบริเวณที่ถ่ายแบบ กาวอัดส่วนที่ถูกแสงจะติดล้างไม่ออก กาวอัดส่วนที่ไม่ถูก แสงเนื่องจากต้นแบบส่วนที่เป็นสีดำบังเอาไว้ จะถูกน้ำล้างออก
6 นำไปเป่าให้แห้ง เตรียมการพิมพ์ต่อไป
การทำแม่พิมพ์วิธีใช้กาวอัด สามารถทำแม่พิมพ์ที่มีลวดลายได้ ละเอียดพอสมควร ใช้พิมพ์ได้ทั้งหมึกเชื้อน้ำและหมึกเชื้อน้ำมัน แต่การพิมพ์ด้วยหมึกเชื้อน้ำ แม่พิมพ์จะชำรุดเร็วขึ้น ซึ่งแก้ไขได้ โดยเคลือบแม่พิมพ์สกรีนด้วยน้ำยา แพ็ทลี่ (PATLY) เสียก่อน และควรใช้กาวอัดเป็นตัวอุดรูรั่วก่อนเคลือบ

วิธีการพิมพ์ซิลค์สกรีน 
มีวิธีการพิมพ์ได้ทั้งแบบการพิมพ์ด้วยมือ และ การพิมพ์ด้วยเครื่อง โดยทั่วไปนิยมการพิมพ์ด้วยมือ สำหรับการพิมพ์ในปริมาณไม่มากนัก การพิมพ์ด้วยเครื่อง สามารถพิมพ์สอดสีได้ประณีต สวยงามยิ่ง เพราะน้ำหนักของการปาดหมึกพิมพ์ สามารถปรับตั้ง และควบคุมได้ตลอดการพิมพ์ ซึ่งการพิมพ์ด้วยมือทำ ได้ยาก เทคนิคของการพิมพ์ จะต้องอาศัยการฝึกทักษะปฏิบัติการพิมพ์จริงจึงจะสามารถพิมพ์ได้ดี 
การพิมพ์โดยทั่วไป นิยมนำกรอบสกรีนที่ถ่ายแบบเสร็จแล้วไปติดกับโต๊ะพิมพ์ให้สามารถเปิดขึ้นลงได้ ทำฉากที่โต๊ะพิมพ์เพื่อใส่ชิ้นงานให้ได้ตรงตำแหน่งเดิมที่ต้องการ ฉีดสเปรย์กาวเหนียวที่โต๊ะพิมพ์ ใส่หมึกพิมพ์ใส่ชิ้นงาน แล้วเริ่มพิมพ์ เทคนิคใน การพิมพ์โดยละเอียด ต้องอาศัยการฝึกฝนจึงจะทำ ได้ดี อาจสอบถามจากผู้รู้ เพราะการพิมพ์ผ้า กระดาษ นามบัตรตัวนูน สติกเกอร์วงจรไฟฟ้า รูปลอก กำมะหยี่ ฯลฯ ซึ่งต่างก็มีเทคนิคที่แตกต่างกันไป

หมึกพิมพ์ซิลค์สกรีน 
หมึกพิมพ์ ในระบบการพิมพ์แบบซิลค์สกรีนแตกต่างจากหมึกพิมพ์ในระบบการพิมพ์ชนิดอื่น ๆ เพราะ ต้องการความข้น และความละเอียดของเนื้อหมึกสูง เพื่อผลทางการพิมพ์ที่คมชัด และคงทนถาวร ซึ่งแบ่ง ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ 
1 หมึกพิมพ์เชื้อน้ำ คือหมึกที่ผสมและล้างด้วยน้ำเหมาะสำหรับใช้พิมพ์ผ้าทุกชนิด 
2 หมึกพิมพ์เชื้อน้ำมัน คือ หมึกที่ผสมและล้าง ด้วยน้ำมัน มีทั้งชนิดแห้งเร็วและแห้งช้า เหมาะสำหรับใช้พิมพ์กระดาษ ไม้ เหล็ก แก้ว ผ้า 
3 หมึกพิมพ์เชื้อพลาสติก คือ หมึกที่ใช้น้ำมัน ผสมหรือล้างสำหรับสีพลาสติกโดยเฉพาะ เป็นสีแห้งเร็ว เหมาะสำหรับใช้พิมพ์พลาสติกทุกชนิด ซึ่ง หมึกพิมพ์เชื้อพลาสติกนี้ ยังแบ่งแยกออกไปอีกหลายชนิด ตามชนิดของพลาสติกที่จะพิมพ์ เนื่องจากพลาสติกมีหลายชนิด ในการเลือกใช้หมึกพิมพ์ให้ถูกต้อง กับวัสดุที่จะพิมพ์นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงประเภทชนิด สี การดูดซึม ลักษณะการนำไปใช้งานของวัสดุนั้นๆ ให้เข้าใจเสียก่อนจึงจะเลือกใช้หมึกพิมพ์ได้ถูกต้อง