คำศัพท์โรงพิมพ์ โรงปั๊ม


ในการสั่งงานพิมพ์ หรือ งานปั๊ม เช่น บิล, โบรชัว, แผ่นพับ, สมุดโน้ต, กล่อง, นามบัตร,  ฯลฯ เราต้องติดต่อกับทางโรงพิมพ์ โรงปั๊ม บางครั้งก็ใช้คำศัพท์เฉพาะกัน อาจทำให้สื่อสารกับลูกค้าไม่เข้าใจ เรามาดูความหมายของคำเหล่านั้นกันค่ะ

1. เพลท
เพลท” คือ แม่พิมพ์ของเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซท เป็นโลหะบางๆ ทำจากอลูมิเนียม ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อความหรือภาพลงสู่กระดาษ (ตามกระบวนการของเครื่องพิมพ์ออฟเซท) โดย ค่าเพลท ถือเป็นต้นทุนคงที่ เช่น ค่าแม่พิมพ์ 4 สี ราคาประมาณ 3,500 บาท/ชุด ถ้าคุณต้องการพิมพ์โบรชัวร์ 10 ใบ เฉลี่ยค่าแม่พิมพ์เท่ากับ 350 บาท แต่ถ้าคุณพิมพ์โบรชัวร์ 10,000 ใบ เฉลี่ยค่าแม่พิมพ์เท่ากับ 0.35 บาท เห็นมั้ยคะว่าต่างกันตั้งเยอะ ดังนั้นถ้าคุณพิมพ์ยอดยิ่งเยอะราคางานพิมพ์ยิ่งถูกลง


2. การเคลือบผิวงานพิมพ์
การเคลือบผิวงานพิมพ์ เป็นการเพิ่มมูลค่างานพิมพ์ เพื่อความสวยงามและน่าสนใจ และเพื่อความทนทานของงานพิมพ์
- เคลือบยูวี คือ การเคลือบผิวกระดาษด้วยการอาบน้ำยายูวี จะให้กระดาษมีความมันวาว ทนทานต่อการเปียกน้ำน้อยกว่าการเคลือบพลาสติกพีวีซี เช่น ทำฉลากสินค้า, โบร์ชัวร์
- เคลือบลามิเนตด้าน คือ การเคลือบพลาสติกพีวีซีด้านลงบนกระดาษ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้งานออกมาด้าน และมีความทนทานต่อการเปียกน้ำ เช่น ทำกล่องบรรจุภัณฑ์, นามบัตร
- เคลือบลามิเนตเงา คือ การเคลือบพลาสติกพีวีซีเงาลงบนกระดาษ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้งานออกมามันวาว (งานจะคล้ายๆ การอาบยูวี แต่สามาถรทนทานต่อการเปียกน้ำได้ดีกว่ายูวี) เช่น ปกหนังสือ, นามบัตร, กล่องต่างๆ
- สปอตยูวี คือ การเคลือบยูวีเฉพาะจุดที่ต้องการให้งานมันวาวเฉพาะจุด เช่น อาจจะเป็นโลโก้ โดยปกตินิยมเคลือบสปอตยูวีพร้อมกับเคลือบพลาสติกพีวีซีด้าน เพราะจะทำให้ส่วนที่สปอตยูวีจะยิ่งโดดเด่นสวยงามขึ้นมา เช่น โบรชัวบ้าน, กล่องบรรจุภัณฑ์, แฟ้มเอกสาร


3. การเข้าเล่ม
- กาวหัว การเข้าเล่มแบบนี้ใช้สำหรับเข้าเล่มทำบิลต่างๆ เช่น ทำใบกำกับภาษีแบบเล่ม, สมุดฉีก, กระดาษก้อน ฯลฯ เป็นการเข้าเล่มสำหรับให้ฉีกเอกสารออกเป็นใบๆ หรือ ชุดๆ วิธีการทำ คือ เอากาวมาทาบริเวณสันหัวของงาน
- แบบปรุฉีก การเข้าเล่มแบบนี้ใช้สำหรับเข้าเล่มทำบิลต่างๆ อีกวิธีหนึ่ง แต่ใช้วิธีเย็บแม๊กซ์ เช่น ทำใบกำกับภาษี โดยเครื่องพิมพ์จะทำการทำเส้นปรุสำหรับฉีกตามแนวปรุ เหมาะกับบิลที่ต้องการฉีกออกจากเล่ม แล้วเหลือใบสุดท้ายไม่ต้องปรุฉีกเพื่อติดเล่ม
- เย็บมุงหลังคา นิยมใช้เย็บสมุดนักเรียน, สมุดโน๊ต, คู่มือการใช้งาน, หนังสือ, แคทตาล็อค, โบชัวร์ที่มีหน้าน้อยๆ ไม่เกิน 40 หน้า วิธีการคือ เอากระดาษมีเรียงหน้ากัน นำมาพับครึ่ง แล้วเย็บลวดตรงกลาง
- แบบไสกาว (ไสสันทากาว) นิยม ใช้เข้าเล่มนิตยสาร, หนังสือเรียน, พ็อคเก็ตบุคส์, สมุดโน้ต, เหมาะกันหนังสือที่มีจำนวนหน้าเยอะเกิน 40 หน้าขึ้นไป แต่ต้องไม่หนามากจนเกินไป เพราะอาจทำให้หลุดออกมาเป็นแผ่นๆ วิธี การทำ คือ นำมาเนื้อในหนังสือ มาเรียงหน้ากันก่อน แล้วเข้าเครื่องไสสันทากาว โดยจะไสด้านข้างให้เป็นขุยก่อน เพื่อให้กาวแทรกซึมเข้าไปในเนื้อกระดาษ
- เย็บกี่ นิยมใช้ในไดอารี่, พจนานุกรม ดิชชันนารี่ หนังสือนิยาย ที่มีความหนามากๆ เป็น ความเข้าเล่มที่มีความคงทนมาก วิธีการทำ คือ แยกหนังสือเป็นส่วนๆ แล้วนำมาเย็บด้วยด้าย หลังจากนั้นเอาส่วนที่ย่อยๆ นั้น มาเย็บรวมกันอีกที
- เข้าห่วงกระดูกงู (ห่วงลวด) นิยมใช้เข้าห่วงปฏิทินตั้งโต๊ะ หรือ เข้าห่วงสมุดโน้ต มีหลากสีสัน เช่น สีขาว สีแดง สีดำ ฯลฯ  และมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงาน


4. การตัดกระดาษ
- ตัดเจียน คือ การตัดขอบกระดาษ เพื่อให้เป็นไซด์ที่เราต้องการ เนื่อง จากเวลาโรงพิมพ์พิมพ์งาน จะพิมพ์งานเป็นไซด์ใหญ่ก่อนแล้ว จึงนำมาตัดเจียน และอีกเหตุผลหนึ่งเพื่อความสวยงามของงาน ให้ขอบทุกด้านเรียบเสมอกัน เช่น ทำบิลเล่ม, ทำคูปอง, ทำกระดาษก้อน
- การไดคัท เป็น การตัดกระดาษ ให้งานเป็นรูปที่เราต้องการ เช่น  วงกลม  วงรี ฯลฯ โดยต้องทำแม่พิมพ์ให้เป็นรูปที่เราต้องการที่เรียกว่า  "บล็อกปั๊ม หรือ แบบมีดไดคัท"  นำมาเข้าเครื่องปั๊มกระดาษให้ออกมาตามรูปร่างที่เราต้องการ เช่น รูปดาว, ดอกไม้, ลายไทย, เจาะรูรูปทรงขนาดต่างๆ, กล่องบรรจุภัณฑ์ต่างๆ, กระดาษโน๊ต และอื่นๆ


5. คำศัพท์ของบิลกระดาษต่อเนื่อง
- หนามเตย   คือ รูวงกลมด้านข้างๆ ทั้งสองด้าน ที่ใช้นำกระดาษต่อเนื่องเข้าสู่เครื่องปริ๊นเตอร์ที่ใช้พิมพ์กระดาษต่อเนื่อง เช่น บิลต่อเนื่อง, สลิปเงินเดือน
- เข้ากาวทำซอง   คือ กระดาษต่อเนื่องที่ใช้ทำสลิปเงินเดือน, เอกสารความลับ ต้องใช้วิธีทากาวทำซอง เพื่อให้หลังจากดึงหนามเตยออกแล้ว เอกสารทุกชั้นยังติดกันอยู่ด้วยกัน เป็นลักษณะซอง ไม่แยกออกจากกัน


6. คำศัพท์ โรงปั๊ม งานไดคัท ปั๊มนูน งานปั๊มทองเคหรือปั๊มฟอยล์
งานไดคัท คือ งานตัดขาดเป็นรูปร่างต่างๆ ตาม แบบมีดไดคัท หรือ บล๊อคปั๊ม เช่น ดาว ดอกไม้ ลายไทย การ์ตูน หรือ กล่องต่างๆ ซึ่งกล่องจะมี เส้นพับกล่องด้วย ตรงเส้นพับพวกนี้จะมีเทคนิคทำใก้เกิดรอยพับกล่อง หรือใช้เส้นพับสำเร็จรูปเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
ปั๊มนูน คือ ปั๊มให้กระดาษนูนขึ้นมา เป็นรูปร่างตาม บล๊อคปั๊มนูน เช่น กล่องเครื่องสำอางค์ต่างๆที่โลโก้ หรือตัวอักษรจะนูนขึ้น เพื่อความสวยงามและโดดเด่น
ปั๊มทองเคหรือปั๊มฟอยล์ คือ ปั๊มฟอยล์สีต่างๆ เช่น สีเงิน สีทอง สีแดง สีชมพู สีเลเซอร์ที่เวลามองพลิกไปมาจะมีประกายเงาๆเป็นสีรุ้ง โดยวิธีการทำจะต้องใช้ความร้อนในการปั๊มด้วย ตัวอย่างเช่นกล่องเครื่องสำอางค์ต่างๆที่ ตัวอักษรโลโก้จะเป็น สีเงิน สีทอง มีประกายแวววาว